ศาสนาพราหมณ์ฮินดูในดินแดนไทย

ศาสนาพราหมณ์ฮินดูในดินแดนไทย

 

            สมัยก่อนรัตนโกสินทร์  ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ก่อนสมัยทวารวดี คัมภีร์ชาดกในพระพุทธศาสนาเช่นพระมหาชนก คัมภีร์รามายณะก็กล่าวถึงดินแดนในสุวรรณภูมิ และสุวรรณทวีปไว้
เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ คณาจารย์พราหมณ์ที่ติดตามพระโสณะเถระกับพระอุตรเถระ ศาสนทูตของพระเจ้าอโศก ฯ เข้ามายังสุวรรณภูมิ จุดแรกที่ทั้งสององค์มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาคือ นครปฐม ตอนนี้นับเป็นยุคแรก ๆ ของพราหมณ์ในประเทศไทย ประจักษ์พยานในการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ คือ ปฏิมากรรม และปูชนียวัตถุของศาสนาเช่นเทวรูป เทวาลัย พบที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ที่ตำบลพงตึก
โบราณวัตถุของพราหมณ์ดังกล่าวมักจะพบคู่กับปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนาเช่น เมื่อพบพระพุทธรูป พระเจดีย์ หรือพระปรางค์ ณ ที่ใดก็มักจะพบเทวรูป และเทวสถานของพราหมณ์ พร้อมกับวัตถุทางศาสนา เช่น เสาชิงช้า เป็นต้น ณ  ที่นั้นด้วยเสมอ
ประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งมั่นอยู่ที่สุโขทัย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาก ในขณะเดียวกันก็ทรงเอาธุระในศาสนาพราหมณ์ฮินดูด้วย ในราชสำนักมีพราหมณ์ พระศรีมโหสถ พระมหาราชครู เป็นปุโรหิต ถวายความรู้วิทยาการของนักรบและวิทยาการของกษัตริย์ มีการประกอบพิธีกรรมตามพระเวท อันสืบเนื่องมาเป็นพระราชพิธีจนถึงปัจจุบัน
บรรดาพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเบีดเบียนชีวิตมนุษย์ และสัตว์ที่เรียกว่า ยัญกรรมนั้น คณาจารย์พราหมณ์ในพระราชอาณาจักรไทยได้เลิกไปหมดสิ้น เพราะขัดกับพื้นฐานของสังคมชาวพุทธ คงเหลือแต่การประกอบพิธีสาธยายพระเวท สร้างมงคล ล้างอัปมงคล ดำเนินงานทางศาสนาคู่ไปกับพระพุทธศาสนา อีกทั้งคณาจารย์พราหมณ์ได้เป็นอุบาสก ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เจริญรอยตามพระยุคลบาท พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีคำว่าพุทธกับไสย อิงอาศัยกัน ปัจจุบันมีพิธีกรรมพราหมณ์บางอย่างก็มีพุทธเจือปนเช่น มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ท้ายพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปาวาย เป็นต้น เรื่องของพุทธก็มีพราหมณ์แทรกเช่น การเดินประทักษิณรอบวัตถุสถานมงคล การจุมเจิมลูกนิมิตร การรดน้ำสังข์ให้เจ้านาค การเบิกพระเนตรพระพุทธปฏิมา เป็นต้น
ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักรไทยตามลัทธิลังกาวงศ์นับว่าเป็นยุคที่สองของพราหมณ์ในไทย ยุคนี้ห่างจากยุคแรกประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ได้ปรากฎปูชนียวัตถุในศาสนาพราหมณ์ ในหลาย ๆ ที่ขุดพบในอาณาจักรสุโขทัยรวมทั้งจารึกพระเวทในศาสนาพราหมณ์อีกเป็นจำนวนมาก

                พราหมณ์ในพระราชอาณาจักรไทย  อาจกล่าวได้ว่าเป็นพราหมณ์สมัยพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าที่ตั้งของศาสนพิธีของพราหมณ์ และของพุทธที่สำรวจพบในพระราชอาณาจักรไทย มักจะมีเทวรูป ปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนาอยู่ในสถานที่เดียวกันเสมอ
จากตำนานและข้อสันนิษฐานต่าง ๆ จะเห็นว่าบรรดาวิชาการต่าง ๆ ที่ได้ศึกษากันมาในสมัยพันกว่าปีมานี้ได้อาศัยวิชาในแขนงอุปเวท อาถรรพเวท เป็นส่วนมากเช่น อายุรเวทว่าด้วยทางเภสัช การปรุงยาและการแพทย์ทุกแขนง นิติเวทว่าด้วยการปกครองกฎหมายจะเขียนแบบแผนของบ้านเมืองเป็นต้น ตลอดจนวรรณคดีเช่น หนังสือเรื่องสมุทโฆษคำฉันท์ ฉบับที่พระมหาราชครูแต่ง และหนังสือจินดามณี ต้นตำราเรียนภาษาไทยซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้พระยาโหราธิบดี (พราหมณ์) แต่งเอาไว้เพื่อใช้สอนกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ดังนั้นในสมัยก่อนที่ปรึกษาราชการงานเมืองจึงมีพราหมณ์ปุโรหิตอยู่ด้วยเสมอ เพราะโดยตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนวิชาการต่าง ๆ ด้วย
ตระกูลของพราหมณ์ ที่เข้ามาในพระราชอาณาจักรไทยมีอยู่มากมาย ตัวอย่างตระกูลพราหมณ์สำคัญครั้งสมัยอยุธยาคือ
พราหมณ์ศิริวัฒนะ ได้เป็นพระมหาราชครู พระราชปุโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงส์วงศ์บริโสดม พราหมณ์ทิชาจารย์ พระมหาราชครู ได้มีลูกหลานให้กำเนิดสกุลสำคัญ ๆ สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ อันเป็นต้นตระกูลทองอิน อินทรพล นรินทรกุล สิงหเสนี จันทรโรจนวงค์ ชัชกุล ภูมิรัตน์ บูรณศิริ สุจริตกุล ศิริวัฒนกุล
หน้าที่ของพราหมณ์  แบ่งออกได้เป็นพราหมณ์โหรดาจารย์ ผู้บูชาในลัทธิหราหมณ์  อุทาคาดา ผู้สวดขับดุษฎีสังเวย และพราหมณ์อัชวรรย ผู้จัดทำพิธีในลัทธิ

            สมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์จากปักษ์ใต้ขึ้นมารับสนองพระบรมราชโองการเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์ และพระราชอาณาจักร โดยให้ประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการขอพรจากพระอิศวร เพื่อให้พระนครมั่นคง แข็งแรง และมีความอุดมสมบูรณ์
พรหมณ์ได้ปฎิบัติทางราชพิธีต่อมาทุกรัชกาล จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ในกระทรวงวัง
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์ปฏิบัติพระราชพิธีสำหรับพระองค์และประเทศชาติต่อไป โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักพระราชวัง และปฏิบัติศาสนกิจที่เทวสถาน สำหรับพระนครข้างวัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้า กรุงเทพ ฯ
ตำแหน่งพราหมณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีอยู่หลายตำแหน่งด้วยกันคือ

– พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดี    นา ๑๐,๐๐๐
– พระราชครู พระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม    นา ๕,๐๐๐
– พระธรรมสาตรราชโหรดาจารย์ ปลัดมหิธร    นา ๓,๐๐๐
– พระอัฐยาปรีชาธิบดีโหระดาจารย์ ปลัดพระครูพิเชด    นา ๓,๐๐๐
– พระญาณประภาษอธิบดีโหระดาจารย์    นา ๓,๐๐๐
– ขุนไชยอาญามหาวิสุทธิปรีชาจารย์    นาคล ๑,๕๐๐
– ขุนจินดาพิรมยพรมเทพวิสุทธิวรษาจารย์    นาดล ๑,๕๐๐
– พระมหาราชครู พระราชประโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดี ฯ    นา ๑๐,๐๐๐
– พระราชครู พระครูพิราม ราชสุภาวดี ฯ    นา ๕,๐๐๐
– พระเทพราชธาดาบดีศรีวาสุเทพ  ปลัดพระราชครูปุโรหิต      นา  ๓,๐๐๐
– พระจักปานีศรีสัจวิสุทธิ ปลัดพระครูพิราม    นา  ๓,๐๐๐
– พระเกษมราชสุภาวดี ศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกระเษม    นา  ๓,๐๐๐
– ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนสภาสภาพาน ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
– ขุนหลวงพระไกรศรี ราชสุภาวดี ฯ  เจ้ากรมแพ่งกลาง    นา   ๓,๐๐๐
– ขุนราชสุภา ๑ ขุนสภาไชย ๑  ปลัดนั่งศาล    นาดล  ๔๐๐
– พระครูราชพิทธี จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
– พระครูอัศฎาจารย์ เจ้ากรม    นา  ๘๐๐
– หลวงราชมณี ปลัดกรม    นา  ๖๐๐
– ขุนพรมไสมย ครูโล้ชิงช้า    นา  ๔๐๐
– ขุนธรรมณะรายสมุบาญชีย    นา ๓๐๐
– ขุนในกรม นา ๓๐๐ หมื่นในกรม นา ๒๐๐  พราหมเลวรักษาเทวาสถาน    นาดล  ๕๐
– พระอิศวาธิบดี ศรีสิทธิพฤทธิบาท จางวาง    นา  ๑,๐๐๐
– ขุนในกรมพฤทธิบาท  นา ๓๐๐  หมื่นในกรมพฤทธิบาท  นา ๒๐๐
– ประแดงราชมณี    นา  ๒๐๐

ในปี พ.ศ.๒๔๒๒  ศาสนิกพราหมณ์จากทางภาคใต้ของอินเดียที่อยู่ในไทย ได้ร่วมกันจัดสร้างศาลาเล็ก ๆ สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระแม่อุมาเทวีไว้เคารพบูชา  ต่อมาเมื่อจำนวนศาสนิกชนมีมากขึ้น จึงได้ไปสร้างวัดวังวิษณุ โดยศาสนิกชนพราหมณ์อุตตรประเทศได้ร่วมกันสร้างขึ้น

            ศาสนิกชนชาวปัญจาบ  แบ่งออกเป็นสองพวกคือ ซิกข์ และพราหมณ์ฮินดู ได้ใช้สถานที่ร่วมกันปฎิบัติศาสนกิจ ที่บ้านบริเวณหลังวังบูรพา  เมื่อมีจำนวนคนมากขึ้นจึงแยกกัน โดยศาสนิกชนพราหมณ์ฮินดู ได้ไปสร้างฮินดูสมาช ที่บริเวณใกล้เสาชิงช้า ต่อมาชาวภารตได้รวบรวมกันจัดตั้งสถาบันขึ้น พร้อมกับสมาคมฮินดูธรรมสภา เรียกว่า อารยสมาช เป็นพราหมณ์ฮินดูที่ถือธรรมะเป็นศาสดา ไม่บูชานับถือรูปเคารพใด ๆ
ศาสนสถาน

                วันสำคัญอันดับแรก  เป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์ตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า จากวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ เรียกว่า นวราตรี ทำการบูชาเจ้าแม่อุมา ซึ่งมีเก้าปางด้วยกันคือ

-ไศลปุตรี เป็นปางแรก  พระแม่อุมาเป็นบุตรีของภูเขาคือเป็นธิดาของหิมพาน ซึ่งเป็นราชาแห่งภูเขาทั้งหลาย
-พรหมฮาริณี  เป็นปางที่สอง เป็นปางที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีพ่อแม่ และไม่แต่งงาน อยู่เป็นโสด
-จันทร ฆัณฎา  เป็นปางที่สาม เป็นปางที่ปราบอสูรด้วยเสียงระฆัง
-ภูษามาณฑา  เป็นปางที่สี่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปางทุรคา เป็นปางปราบอสูร ด้วยอาวุธทั้งสี่กร
-ษกันทมาตา  เป็นปางที่ห้า เป็นปางเลี้ยงพระคันธกุมาร ซึ่งเป็นโอรสพระศิวะกับอุมาเทวีหรือปารวดี ซึ่งจะไปปราบอสูรต่อไป
-กาตยายนี   เป็นปางที่หก เป็นปางเทวีของปีศาจ โดยใช้พวกภูติผีปีศาจไปปราบอสูร
-กาลราตรี   เป็นปางที่เจ็ด  เป็นปางเสวยเลือดอสูร
-มหาเคารี  เป็นปางที่แปด  เป็นปางเป็นเจ้าแม่แห่งธัญชาติ  ทำให้ธัญชาติสมบูรณ์
-สิทธิธาตรี  เป็นปางที่เก้า  เป็นปางที่กลับเป็นเจ้าแม่แห่งความสำเร็จ

วันสำคัญอันดับที่สอง  เรียกว่า  อกษัยตริติยา  ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๖  เชื่อกันว่าบุญที่ทำในวันนี้ จะทรงอยู่ชั่วนิรันดร และใน–วันนี้ ปรศุราม อวตารปางที่ ๕ ของพระนารายณ์ จะมาปรากฎ
วันสำคัญอันดับสาม  เรียกว่า นฤสิงหจตุรทศี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖  เป็นวันปรากฎของพระนารายณ์ ปางที่สามชื่อ นฤสิงห์  การประกอบพิธีบูชาพระนารายณ์ในวันนี้ เพื่อพิชิตศัตรู
วันสำคัญอันดับสี่  เรียกว่า ไวศาขีปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  เป็นวันศูนย์กลางของสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันเพ็ญแรกของปี  มีการทำพิธีบูชาไฟ และทำบุญตามประเพณีของตระกูล  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่โลก  ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถ้าที่ใดมีพระพุทธรูปอยู่จะต้องแห่พระพุทธรูปนั้น
วันสำคัญอันดับห้า  เรียกว่า เมษสงกรานต์   ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน และทุกปี  จัดทำการบูชาพระนารายณ์ บางรัฐถือว่าเป็นวันปีใหม่ด้วย
วันสำคัญอันดับหก  เป็นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันแรกที่น้ำจากพรหมโลกไหลลงมาสู่โลกนี้  ที่ต้นของแม่น้ำคงคาคือ น้ำจากเศียรพระศิวะไหลลงสู่ภูเขาหิมาลัย แล้วลงสู่แม่น้ำคงคา ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำคงคาจะจัดเล่นกีฬาในน้ำ
วันสำคัญอันดับเจ็ด  เรียกว่า นิรชลาเอกทศี  ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันบูชาพระนารายณ์ โดยการอดอาหาร และน้ำ  เป็นเวลา ๑๔ ชั่วโมง
วันสำคัญอันดับแปด  เรียกว่า  ชเชษฐิปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันเริ่มจตุรมาศคือ วันเริ่มต้นเข้าพรรษา เป็นเวลาสี่เดือน ผู้เป็นสันยาสี จะต้องอยู่ประจำที่สี่เดือน
วันสำคัญอันดับเก้า  เรียกว่า  วันรถยาตรา  ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘  มีการนำรูปปฎิมาของพระนารายณ์ ขึ้นรถแห่ภายในเขตหมู่บ้านเพื่อให้คนบูชา
วันสำคัญอันดับสิบ   เรียกว่า คุรุปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  เป็นวันบูชาครูบาอาจารย์ มหาฤษีวยาส ได้รับความสำเร็จในการแต่งตำราต่าง ๆ  วันเริ่มต้นเขียนตำรา และวันเขียนตำราจบ  วันเริ่มต้นสอนศิษย์ พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักรกัปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ในวันนี้
วันสำคัญอันดับ ๑๑  เรียกว่า นาคปัญจมี  ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๙  ชาวพราหมณ์ฮินดูทำการบูชาพญานาค เอาน้ำนมให้งู และพญานาคกิน
วันสำคัญอันดับ ๑๒  เรียกว่า ศราวณีปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙  พวกพราหมณ์จะพากันไปสู่แม่น้ำสายต่า งๆ  แต่เช้า  ทำพิธีทางพระเวทจนบ่าย ต้องอยู่ในน้ำตลอดระยะเวลาที่อ่านคัมภีร์พระเวท  โดยการกล่าวอุทิศบุญกุศล ที่ทำนั้นให้แก่บรรพบุรุษทุกคน  ตอนเย็นจะมีศิษย์มาหาอาจารย์  อาจารย์ก็ผูกสายสิญจ์ที่ข้อมือให้ ถือว่าเป็นมงคลตลอดปี
วันสำคัญอันดับ ๑๓   เรียกว่า คเณศจตุรถี  แรม ๔ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันบูชาพระคเณศ  ต้องอดอาหารตลอดวัน จนกว่าจะทำพิธีเสร็จ  และไหว้พระจันทร์ที่ปรากฎขึ้นแล้ว จึงจะบริโภคอาหารได้
วันสำคัญอันดับ ๑๔   เรียกว่า หลษัษฐี  แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันบูชาสุรยิเทพ และพี่ชายของพระกฤษณะ ชื่อ พลเทพ ซึ่งเป็นอวตารของพญานาค
วันสำคัญอันดับ ๑๕  เรียกว่า ศรีกฤษณะชนมาอัฎฐมี  แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันที่พระกฤษณะมาปรากฎ มีการฉลองอย่างมโหฬาร ผู้ที่เคร่งครัดจะอดอาหารตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน
วันสำคัญอันดับ ๑๖  เรียกว่า กุโศตาปาฎนีอมาวสยา  แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  อาจารย์และศิษย์ที่กำลังเรียนพระเวทอยู่จะไปเก็บหญ้าคา เพื่อนำมาใช้ในพิธีต่าง ๆ
วันสำคัญอันดับ ๑๗   เรียกว่า หรตาลิกาตฤติยา  ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐  เป็นวันสำคัญของพระแม่อุมา และพระศิวะ ตอนที่พระแม่อุมายังเป็นพรหมจาริณีกุมารี  ได้บำเพ็ญตบะวิงวอนให้พระศิวะแต่งงานด้วย พระศิวะได้มาปรากฎและให้สัจจสัญญาว่า จะแต่งงานด้วย และให้พรว่า สตรีใดบำเพ็ญตบะ ในวันนี้จะได้สามีที่ดี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
วันสำคัญอันดับ ๑๘   เรียกว่า  มหาลัยปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันแรม ๕ ค่ำ  เดือน ๑๐ ในระยะเวลา ๑๖ วัน  จะมีการทำพิธีบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว  โดยการเชิญสันยาสี มาฉันอาหารที่บ้าน เป็นการทำบุญให้ผู้ตาย ซึ่งต้องทำให้ตางกับดิถีที่ตาย
วันสำคัญอันดับ  ๑๙   เรียกว่า นวราตรี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ จัดเป็นพิธีบูชาติดต่อกันไป ๙ วัน
วันสำคัญอันดับ  ๒๐  เรียกว่า วิชยาทศมี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำพิธีบูชาพระอุมาเทวี เป็นวันที่พระอุมาปราบอสูร ได้รับชัยชนะ  ใครบูชาพระอุมาในวันนี้จะได้ชัยชนะตลอดปี  ถือว่าเป็นวันสำคัญของวรรณกษัตริย์ อาวุธทุกประเภทที่มีอยู่ในบ้าน จะต้องนำออกมาให้พราหมณ์เจิม เพื่อความเป็นสิริมงคล
วันสำคัญอันดับ ๒๑    เรียกว่า  ศรทปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำพิธีบุชาพระนารายณ์ สิ่งที่นำมาบูชาจะเป็นประเภทใด ก็ตามต้องเป็นสีขาวล้วน  วันนี้เป็นวันบรรจบครบจตุรมาศ  ตรงกับวันออกพรรษาของไทย
วันสำคัญอันดับ ๒๒  เรียกว่า  อันเตรส  แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำพิธีบูชาพระลักษมี พระคเณศ และพระกุเวร  พระแม่สุรัสวดี และพระอินทร
วันสำคัญอันดับ ๒๓   เรียกว่า นรกจตุรทสี  แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลากลางวันทำพิธีบูชาพระยม เวลากลางคืน จุดประทีปถวายพระยม  เชื่อกันว่าเมื่อทำแล้วจะไม่ไปสู่นรก หากมีกรรมหนักหนีนรกไม่พ้น ก็จะเดินทางไปนรก โดยมีประทีปนำทางให้สว่าง  วันนี้ถือเป็นวันเกิดของหนุมานด้วย
วันสำคัญอันดับ ๒๔  เรียกว่า ทับมาสิกา แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำการบูชาเทพเจ้าทั้งห้า และถือว่าเป็นวันสำคัญของพระแม่ลักษมี การบูชาทำในตอนเย็น  มีการจุดประทีปโคมไฟไว้ในบ้านตลอดคืน  เพื่อต้อนรับพระแม่ลักษมี  เป็นวันสำคัญของวรรณะแพทศย์
วันสำคัญอันดับ ๒๕   เรียกว่า  อันนกูฎะ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้ทำพิธีจะต้องนำอาหาร ๕๖ อย่าง ไปถวายเทพเจ้าในเทวาลัยทุกแห่ง
วันสำคัญอันดับ ๒๖  เรียกว่า  ยมทวิตียา ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ วันนี้พี่ชาย หรือน้องชายต้องไปบริโภคอาหารที่บ้านพี่สาว หรือน้องสาว  ผู้ชายต้องนำของขวัญไปให้พี่สาว หรือน้องสาว  เสร็จแล้วพี่สาว หรือน้องสาว ก็เจิมดิลกที่หน้าพี่ชายหรือน้องชาย เพื่อเป็นสิริมงคล
วันสำคัญอันดับ ๒๗  เรียกว่า วามนทวาทศี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันประสูติของพระวามนะ  ซึ่งเป็นอวตารปางที่ ๕  ของพระนารายณ์  มีการบูชาถวายพระรามนะ ทำให้เป็นผู้มีสติปัญญารุ่งเรือง
วันสำคัญอันดับ ๒๘   เรียกว่า ไวกุณฐจตุรทศี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  เป็นวันบูชาพระนารายณ์ ผู้ที่ทำการบูชา ตายแล้วจะไปเกิดในโลกไวกุณฐะ  มีการบูชาพระนารายณ์กับพระศิวะสลับกันไป การบูชาพระนารายณ์จะได้ผลทางจิตใจ ส่วนการบูชาพระศิวะจะได้ผลทางวัตถุ
วันสำคัญอันดับ ๒๙    เรียกว่า ศารทัยปูาณิมาที่สอง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  เป็นการบูชาพระนารายณ์ และถวายประทีปแก่เทพเจ้าทั้งหลายในเทวาลัยต่าง ๆ  บนท้องฟ้าและในน้ำ  ถือว่าเมื่อถวายประทีปแล้วจะได้รับแสงสว่างในภายใน ดวงประทีปจะนำวิญญาณของผู้ถวาย เมื่อตายไปสู่สุคติ
วันสำคัญอันดับ  ๓๐    เป็นวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่  ถึงแรม ๖ ค่ำ  เดือนยี่  เป็นเวลา ๑๖ วัน ๑๕ คืน  เรียกว่า พระราชพิธีตรียัมพวาย – ตรีปาวาย   เป็นพิธีถวายของสักการะเทพเจ้า ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ประเทศและประชาชน  โดยพิธีโล้ชิงช้า เป็นตำนานบูชา พระอิศวร
วันสำคัญอันดับ ๓๑   เรียกว่า  วสันตปัญจมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  มีการบูชาพระแม่สุรัสวดี  เพื่อให้มีสติปัญญาดีขึ้น ทำการบูชาพระกามเทพด้วย  เพื่อป้องกันมิให้จิตตกไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำ  มีการบูชาพระนารายณ์ด้วย
วันสำคัญอันดับ ๓๒   เรียกว่า มาฆีปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  ผู้นับถือเทพเจ้าองค์ใดก็จะบูชาเทพเจ้าองค์นั้น วันนี้เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐  รูป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์
วันสำคัญอันดับ ๓๓   เรียกว่า วันมาฆสงกรานต์  วันที่ ๑๔  มกราคม ของทุกปี  เป็นวันสงกรานต์  มีการนำข้าวกับถั่วปนกันถวายเทพเจ้า พราหมณ์ และสันยาสี
วันสำคัญอันดับ ๓๔  เรียกว่า  ศิวาราตรี  แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓  จะมีการบุชาพระศิวะ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ผู้นับถือเคร่งครัด จะอดอาหารอดนอน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  เป็นวันปรากฎของพระศิวะ  และวันแต่งงานของพระศิวะ
วันสำคัญอันดับ ๓๕  เรียกว่า  โหลีปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  มีการนำเอาของสกปรกออกจากบ้าน ไปรวมไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วเผา  ขณะที่เผาจะร้องเพลงประเภทลูกทุ่ง เรียกว่า เพลงโหลี
วันสำคัญอันดับ ๓๖  เรียกว่า โหลี หรือโหลา  มีการฉลองโหลี มีเล่นนีต่า ง ๆ  เช่นเดียวกับวันสงกรานต์ ที่ไทยเราเล่นสาดน้ำกัน คนส่วนมากถือว่าเป็นวันตรุษอินเดีย เป็นวันสำคัญของพวกกรรมกร วรรณะศูทร
วันแรม หรือขึ้นแปดค่ำ หรือขึ้นสิบเอ็ดค่ำ หรือขึ้นสิบห้าค่ำ ถือว่าเป็นวันพระ ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู โรงเรียน สถานศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่สอนคัมภีร์พระเวทด้วย หยุดในวันดังกล่าว เดือนละหกวัน

พราหมณ์ในนครศรีธรรมราช

            เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒ – ๓ นักบวชพราหมณ์เผ่าดราวิเดียน ทางภาคใต้ของอินเดียได้เดินทางด้วยเรือจากอินเดีย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ข้ามทะเลอันดามัน ได้พากันมาหลายคณะหลายพวก มาขึ้นฝั่งทางชายทะเลตะวันตกของแหลมปลายแถบเมืองมะริด ทวาย มลิวัลย์ มีพวกที่ขึ้นฝั่งที่บ้านทุ่งตึก บนเกาะพระทอง อำเภอคระบุรี ปัจจุบัน จังหวัดพังงาวปัจจุบัน
หลังจากที่พวกพราหมณ์รู้ภูมิภาคตะวันออกของทวีปเอเซียแล้ว พราหมณ์ที่เป็นพ่อค้าก็เริ่มใช้เส้นทาง โดยผ่านช่องแคบ จากปากคลองปกาไส ไปออกปากแม่น้ำตาปี ที่อ่าวบ้านดอน โดยผ่านพื้นที่ของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ไปตามช่องแคบที่อยู่ระหว่างเขาหน้าแดงหน้าเรืองของยตำบลพรดินนา ไปตามร่องน้ำที่เป็นคลองสินปุน แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำตาปี ในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านเข้าเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน แล้วออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน
พวกพราหมณ์พ่อค้าได้ใช้เส้นทางนี้อยู่หลายร้อยปีจนช่องแคบดังกล่าวตื้นเขิน ใช้เดินเรือไม่ได้ พ่อค้าอินเดียก็ใช้การแล่นเรือผ่านสิงคโปร์ ที่อยู่ทางปลายสุดของแหลมมลายู เพื่อไปตะวันออกไกลคือจีนและญี่ปุ่น โดยแล่นเรือเรียบริมฝั่งแหลมมลายูด้านวตะวันออกผ่านเมืองนราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช และอ่าวบ้านดอนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๒๐ องศา เข้าทะเลจีนใต้จนถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

            พ่อค้าชาวอินเดียเหล่านี้ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เมื่อไปถึงเมืองไหนก็ปฏิบัติตามลัทธิศานาของตน ณ ที่นั้น มีร่องรอยให้เห็นอยู่ในแถบประเทศมาเลเซียตอนบน ในรัฐเคดาห์มีโบสถ์พราหมณ์เก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบาตู ปาฮัต มีอายุกว่าพันปี และที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
พราหมณ์รุ่นแรกที่ตั้งหลักอยู่ที่บ้านทุ่งตึก บนเกาะพระทอง แล้วต่อมาได้อพยพเข้ามาบนแผ่นดินใหญ่ ตั้งชุมชนที่บ้านคูลา ปัจจุบันคือคูระบุรี จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่ปากน้ำตะกั่วป่า เรียกหมู่บ้านของตนว่า ตะโกลา  เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว ได้สร้างเทวสถานขึ้นที่เชิงเขาเหล ตำบลรามณีย์ อำเภอตะกั่วป่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๘๕  ต่อมาบางส่วนได้อพยพข้ามเขาศก ไปทางตะวันออกเข้าสู่เขตจังหวัดสุราษฎรธานี แล้วเดินทางเลียบลำแม่น้ำตาปี ถึงอำเภอท่าขนอน และอำเภอพุนพิน  จากอำเภอพุนพินได้แบ่งออกเป็นสองพวก โดยมุ่งไปทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายูพวกหนึ่ง  อีกพวกหนึ่งเดินบกไปทางทิศใต้ ไปตั้งชุมชนที่อำเภอเวียงสระปัจจุบัน

โบสถ์เทพมณเฑียร  มีเทววรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน ดังนี้
– พระนารายณ์ และพระแม่ลักษมี (พระวิษณุ และพระลักษมี) เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ สัญลักษณ์แห่งการรักษาความดี และต่อสู้อธรรม ถือว่าเป็นผู้ปกครองและบริหารโลก เป็นเจ้าแห่งโมกษะ ส่วนพระแม่ลักษมีได้ชื่อว่าเป็นเทวีแห่งโชคลาภ
– พระราม และภควดีสีดา (พระราม และพระแม่สีดา) พระรามเป็นอวตารปางที่เจ็ดของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งการพัฒนาการของสังคม ศาสนา การเมือง และให้แสงสว่างแก่มนุษยโลก
– พระกฤษณะและพระนางราธา  พระกฤษณะเป็นอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งการรักษาต่อสู้อธรรม สิ่งที่มอบให้แก่มนุษยโลกคือ คัมภีร์ภควัตคีตา มีว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เมื่อรับหน้าที่อันใดแล้วควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง และความซื่อสัตย์อีกประการหนึ่งคือเรื่องหลัก กรรมโยค คือ ผลแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
– พระพุทธเจ้า  ชาวพราหมณ์ฮินดูถือว่าเป็นอวตารปางที่เก้าของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งความไม่เบียดเบียน (อหิงสา) ด้วยแสงสว่างแห่งสันติ ความรัก ความนับถือ และทำลายความโง่เขลา โดยให้แสงสว่างใหม่ที่เรียกว่า กรรมโยค คือผลแห่งกรรม
– พระศิวะ (พระอิศวร)  เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย สิ่งใดที่มากเกินหรือล้นเหลือเกินไปก็จะถูกขจัดให้มีความพอดี นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่า เป็นเทพเจ้าแห่งศิลป และการฟ้อนรำเรียกว่า นาฎราช
– พระแม่ทุรคา  สัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งและความมีอำนาจสำหรับทำลายอธรรม เป็นอวตารของเจ้าแม่อุมา การนับถือบูชาเช่นเดียวกับเจ้าแม่กาลี จัณฑี และไวษณวี
– พระพิฆเนศวร (พระคเณศ)  เป็นโอรสของพระอิศวรและพระแม่อุมา ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ความสำเร็จ และเจ้าแห่งศิลป เมื่อมีการบูชาต้องทำการบูชาเป็นลำดับแรก
– พระหนุมาน  เป็นอวตารของพระศิวะ เพื่อคุ้มครองดูแลพระราม
– พระแม่สตี (รานีสตีเทวี)  เป็นพระแม่เทวีที่ทำความดี แสดงความจงรักภักดีต่อสามีโดยเผาพระองค์ตามสามีของท่าน

อ้างอิงhttp://picasawebcothssomkiert.blogspot.com/2012/05/blog-post_34.html

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น